สรรพคุณของหญ้าหนวดแมว
- ทั้งต้นมีรสจืด สรรพคุณช่วยรักษาโรคกระษัย (ทั้งต้น)
- ช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบ (ทั้งต้น)
- ผลมีรสฝาด ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ผล)
- เปลือกฝักช่วยแก้ลำไส้พิการ (เปลือกฝัก)
- ช่วยแก้บิด แก้อาการท้องร่วง (ผล)
- ช่วยรักษาโรคในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ
รักษาโรคนิ่ว สลายนิ่ว หรือช่วยลดขนาดก้อนนิ่ว ด้วยการใช้ต้นกับใบประมาณ 1 กอบมือ (หากใช้ใบสดให้ใช้ประมาณ 90-120 กรัม
แต่ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ประมาณ 40-50 กรัม)
นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา หรือประมาณ 75
cc. วันละ 3 ครั้ง หรืออีกสูตรให้ใช้กิ่งกับใบขนาดกลาง
(ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป) นำมาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ให้ใช้ประมาณ 4 หยิบมือ (ประมาณ 4 กรัม) นำมาชงกับน้ำเดือดประมาณ 750
cc. เหมือนชงชา แล้วนำมาดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวัน นานประมาณ 1-6 เดือน จะช่วยทำให้ปัสสาวะใสและคล่องขึ้น ช่วยทำให้อาการปวดของนิ่วลดลงและทำให้นิ่วมีขนาดเล็กลงและหลุดออกมาเอง
(ใบ, ราก, ทั้งต้น)
- ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศออสเตรเลีย
มีการใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อรักษาอาการอักเสบของไตและนิ่วในไต (ใบ, ทั้งต้น)
- ในอินโดนีเซียมีการใช้ใบนำมาชงเป็นชาดื่ม
ช่วยแก้โรคไตและกระเพาะปัสสาวะ (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยแก้โรคไตพิการ (ผล, เปลือกฝัก)
- ช่วยลดน้ำขับกรดยูริกจากไต ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างในไต ช่วยขยายท่อไตให้กว้างขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)
- ช่วยขับล้างสารพิษในระบบทางเดินปัสสาวะ ไต และตับ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้หนองใน (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว (ใบ, ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคปวดข้อ อาการปวดเมื่อย และไข้ข้ออักเสบ (ใบ)
คำแนะนำในการใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ ไม่ควรใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว เพราะสมุนไพรชนิดนี้มีสารโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าหากไตไม่ปกติก็จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างร้ายแรง และยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะให้ออกมามากกว่าปกติ และเกรงว่าขนาดของโพแทสเซียมที่สูงมากนั้น อาจจะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วผิดปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อโรคหัวใจได้
- ผลข้างเคียงของหญ้าหนวดแมว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน โดยอาการที่อาจพบได้คือ ใจสั่น หายใจลำบาก ดังนั้นการใช้สมุนไพรชนิดนี้ครั้งแรก หากใช้วิธีการชงดื่มให้ใช้วิธีจิบ ๆ ดูก่อน หากมีอาการผิดปกติก็ควรหยุด แล้วดื่มน้ำตามให้มาก ๆ สักพักอาการก็จะหายไปเอง
- การใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมวเพื่อรักษานิ่วจะได้ผลดีก็เมื่อใช้กับนิ่วก้อนเล็ก ๆ แต่จะไม่ได้ผลกับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
- การเลือกต้นนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรเลือกต้นที่ดูแข็งแรง แข็งและหนา ไม่อ่อนห้อยลงมา ลำต้นดูอวบเป็นเหลี่ยม ต้นมีสีม่วงแดงเข้ม และดูได้จากใบที่มีสีเขียวเข้มเป็นมันและใหญ่
- วิธีการเก็บต้น เมื่อเลือกต้นได้ตามที่ต้องการแล้ว ให้เด็ดในส่วนของยอดลำต้น ยาวประมาณ 1 คืบ คือส่วนที่มีใบอ่อนจนถึงใบแก่ หรือดอกด้วย
- ควรเลือกใช้ใบอ่อนในการปรุงเป็นยา เนื่องจากใบแก่จะมีความเข้มข้นมาก อาจทำให้มีฤทธิ์ไปกดหัวใจได้
- การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาปรุงเป็นยา ไม่ควรใช้วิธีการต้ม แต่ให้ใช้วิธีการชง
- ควรใช้ใบตากแห้งในการปรุงเป็นยา เพราะใบสดอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้และมีอาการหัวใจสั่นได้
- สมุนไพรหญ้าหนวดแมว ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแอสไพริน เนื่องจากหญ้าหนวดแมวจะทำให้ยาแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น
งานวิจัยสมุนไพรหญ้าหนวดแมว
- มีการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้รับประทานยาชงหญ้าหนวดแมวทุกวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน การศึกษาพบว่ามีอาการดีขึ้น โดยสามารถลดขนาดของก้อนนิ่ว 23 ราย มีนิ่วหลุด 40% และมีอาการดีขึ้น 20%
- หญ้าหนวดแมว สามารถช่วยลดขนาดของนิ่วได้ และผู้ป่วยนิ่วที่มีอาการเรื้อรังอื่น ๆ อันได้แก่ อาการแน่นท้อง ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดขา ปวดเอว เมื่อยเพลีบ แสบร้อนสีข้าง พบว่ามีอาการลดลง และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และสามารถทำงานได้มากยิ่งขึ้น (รศ.นพ.อมร เปรมกมล)
- การศึกษาผลของการลดนิ่วไตของผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วไตขนาดตั้งแต่
10 มิลลิเมตรขึ้นไปอย่างน้อย 1 ก้อน ด้วยหญ้าหนวดแมวเปรียบเทียบกับยาโซเดียม
โพแทสเซียม ซิเทรต (Na K Citrate หรือ Sodium
Potassium Citrate (SPC)) ในระยะเวลา 18 เดือน
ผลการทดลองพบว่าหญ้าหนวดแมวสามารถลดขนาดก้อนนิ่วได้ 28.6% ส่วนยา Na-K-Citrate
สามารถลดขนาดก้อนนิ่วได้ 33.8% ในระยะเวลา 1 ปี
หรือโดยสรุปคือสามารถลดขนาดนิ่วลงได้ถึงปีละประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดต้น (นพ.อมร
เปรมกมล, นพ.วัฒนะ ดิฐสถาพรเจริญ, รศ.ศรีน้อย
มาศเกษม, รศ. นฤมล สินสุพรรณ, รศ.พจน์
ศรีบุญลือ, พญ.ชลิดา อภินิเวศ)
ประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว
- ใช้ปลูกเป็นพืชประดับสวนหรือริมรั้วกำแพงบ้านเพื่อความสวย เนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงามและดูแปลกตา และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี
- สมุนไพรหญ้าหนวดแมวสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ เช่น หญ้าหนวดแมวแคปซูล หญ้าหนวดแมวผง ชาหญ้าหนวดแมว เป็นต้น
- เมนูอาหารสมุนไพรจากหญ้าหนวดแมว เช่น หญ้าหนวดแมวกรุบกรอบ อ่อมแซ่บปูนาใส่หญ้าหนวดแมว เป็นต้น
- การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาใช้ในการรักษาโรคนิ่วแทนยาแผนปัจจุบันหรือการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยลดค่ารักษาพยาบาลได้อย่างมาก
แหล่งข้อมูล :
1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร,
สถาบันการแพทย์แผนไทย
2. Medthai.co “หญ้าหนวดแมว
สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว 20 ข้อ !”
[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/หญ้าหนวดแมว/
[18/04/2019]
3. ภาพประกอบ : Medthai.com, เว็บไซต์ fotopedia.com, เว็บไซต์ edwardsblock.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น