หน้าเว็บ

ปอกระสา(ข้อมูลเพิ่มเติม)


สรรพคุณของปอกระสา

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ผล)
  2. ผลมีรสหวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม และไต มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสายตา ช่วยทำให้ตาสว่าง (ผล)
  3. เปลือกลำต้นนำมาเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียดใช้แต้มตา แก้ตาเป็นต้อ หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้เช่นกัน (เปลือก, ผล)
  4. ใช้รักษาอาการหูอื้อ ตามัว หรือตาไม่สว่าง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)
  5. น้ำคั้นจากเปลือกกิ่งก้านอ่อนใช้รับประทานเป็นยาแก้โรคตาแดง (กิ่งก้านอ่อน)
  6. เปลือกกิ่งก้านอ่อน นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำรับประทานแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (กิ่งก้านอ่อน)
  7. ใบใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ในกระเพาะ (ใบ)
  8. รากและเปลือกมีรสหวานฝาด เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ก็ได้เช่น (รากและเปลือก)
  9. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (เปลือก)
  10. ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (รากและเปลือก)
  11. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด แก้อาเจียนออกมาเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน (ใบ)
  12. ใช้เป็นยาแก้บิด บิดเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สตรีตกเลือด สามารถห้ามเลือดได้ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน (รากและเปลือก)
  13. ผล รากและเปลือก มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากและเปลือกรากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน (ผล, รากและเปลือก)
  14. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นมีหนอง ด้วยการนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดรับประทาน (ใบ)
  15. ราก ต้น และใบ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก, ต้น, ใบ)
  16. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกลำต้นที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียดหรือทำเป็นยาก้อนเล็ก ๆ หรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ส่วนอีกวิธีใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาลดอาการบวมน้ำ (ใบ, รากและเปลือก, ผล)
  17. ผลใช้เป็นยาบำรุงตับและไต ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือบดเป็นผงผสมกับเหล้าทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้ (ผล) ส่วนรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงไตเช่นกัน (รากและเปลือก)
  18. ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็นบาดแผลมีเลือด จะเป็นยารักษาแผลสด ช่วยห้ามเลือด หรือจะใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบาดแผลที่มีเลือดออก (กิ่งก้านอ่อน, ใบ) ส่วนรากและเปลือกใช้ภายนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลสดเช่นกัน ด้วยการใช้รากแห้งนำมาหั่นและบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ใส่บริเวณที่เป็นแผลสด แผลฟกช้ำ (รากและเปลือก)
  19. ยางนำมาใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หรือจะใช้ยางสด 10 ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์หรือวาสลิน 90 ส่วน ผสมให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (ยาง) ส่วนใบใช้เป็นยา
  20. แก้กลากเกลื้อนหรือประสาทผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)
  21. ใช้เปลือกกิ่งก้านอ่อนที่นำมาตำให้ละเอียด เอากากมาพอกบริเวณที่เป็นผื่นคัน (กิ่งก้านอ่อน)
  22. ผลนำมาตำแล้วใช้พอกบริเวณที่มีฝีหนอง (ผล)
  23. ใช้รากแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวดฝี (รากและเปลือก)
  24. ใบใช้ตำพอกรักษาแผลจากตะขาบ งู แมงป่อง และแมลงที่มีพิษกัดต่อย ด้วยการนำใบมาตำคั้นเอาน้ำ หรือเอากากมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)
  25. ยางก็ใช้เป็นยาทาแก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ยาง)
  26. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเส้นเอ็นและกระดูก (ผล)
  27. นอกจากนี้หากมีอาการปวดเวียนศีรษะบ่อย ๆ กระหายน้ำ ปากขม ท้องผูก มีอาการการหลั่งน้ำอสุจิยามนอนหลับ หรือมีอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ก็ให้ใช้ถั่วดำประมาณ 1 ถ้วยชา นำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้แช่ผลปอกระสาที่แห้งแล้ว จากนั้นนำมาตากให้น้ำถั่วแห้งสนิท ใส่เมล็ดเก๋ากี้ แล้วคั่วรวมกันให้เกรียม บดให้เป็นผงละเอียด ใช้รับประทานวันละ 15 กรัม (ผล)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม ราก เปลือก และใบ ให้นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ครั้งละ 10-18 กรัม ส่วนรากสดและใบ ใช้ต้มน้ำประมาณ 30-70 กรัม ส่วนผลให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม (ยาจีนส่วนมากจะใช้ผลเป็นยามากกว่า)

ข้อควรระวัง : ไม่ควรรับประทานผลปอกระสาในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกอ่อน อีกทั้งยังทำให้ท้องร่วงได้อีกด้วย

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปอกระสา

  • ในผลปอกระสามีวิตามินบีและมีน้ำมัน ประมาณ 31.7% และในน้ำมันยังพบสาร Saponin อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบสาร Oleic acid, Linoleic acid, Fructose ส่วนใบและเปลือกปอกระสา พบสาร Flavonoid Glycoside, Phenols, Carboxylicaid และมีสาร Tannin
  • จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จำนวน 233 คน โดยการใช้เปลือกสด หลังจากที่ขูดเอาผิวนอกออกแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มรวมกับพลูคาวสด 15 กรัม และต้นเสี้ยวหนี่อั้ง (Oldenlandia lancea (Thunb.) O.Ktze) สด 15 กรัม แล้วกรองเอาแต่น้ำกินวันละ 3 ครั้ง พบว่าหายขาดคิดเป็น 17.6% และมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คิดเป็น 27.4%
  • จากการรักษาผู้ที่เป็นโรคกลากเกลื้อน จำนวน 9 ราย โดยใช้น้ำยางสดมาทาบริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน พบว่ามีผู้หายทันทีจำนวน 4 ราย ส่วนที่เหลือจะหายขาดในเวลาต่อมา
  • จากการทดสอบกับผู้ที่ถูกผึ้งต่อยจนอักเสบ จำนวน 22 ราย โดยใช้ใบปอกระสาแห้ง นำมาบดให้ละเอียด จากนั้นก็ใช้น้ำตาลทรายและน้ำข้าว นำมาทาบริเวณแผล ผลการทดสอบพบว่าได้ผล แก้อาการบวมอักเสบได้ทุกราย

ประโยชน์ของปอกระสา

  1. เปลือกใช้ทำกระดาษสา ทอผ้า เส้นใย ใช้ในงานศิลปะต่าง ๆ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำผ้าตาปาซึ่งใช้ในฟิจิ ตองกา ซามัว และตาฮิติ (กระดาษสาที่ได้จะมีคุณสมบัติทนทานไม่กรอบและไม่เปื่อยยุ่ยง่าย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยกระดาษสาสามารถนำมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์และของใช้ได้มากมาย เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษห่อของกันแตก ร่ม ว่าว พัด ดอกไม้ โคมไฟ ตุ๊กตา ของชำร่วย บัตรอวยพรต่าง ๆ เป็นต้น) ทางภาคเหนือจะใช้เส้นใยจากเปลือกลำต้นปอกระสา นำมาทำเป็นกระดาษหรือกระดาษทำร่ม โดยมีกรรมวิธีในการทำคือ ให้นำเปลือกสดมาทุบให้อ่อน แล้วนำไปแช่ในน้ำปูนขาว จากนั้นก็นำมาต้มน้ำให้เดือดจนได้เส้นใยออกมา แล้วนำมาล้างด่างออกให้หมด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง ก็จะได้กระดาษชนิดหยาบ ถ้าเอามาเผาบนพื้นแก้วหรือนำมารีดให้เรียบก็จะได้เป็นกระดาษ ใช้ทาน้ำมันทำเป็นกระดาษทำร่มกันฝน กันแดดได้ นอกจากนี้เปลือกต้นยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกหรือใช้ทอผ้าได้อีกด้วย
  2. แกนของลำต้นที่เหลือจากการลอกเปลือกออกไปแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ทำเยื่อกระดาษได้ โดยใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ซึ่งจะมีปริมาณเยื่อกระดาษอยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 50 และ 70 ในการผลิตเยื่อโซดาและเยื่อนิวทรัลซัลไฟต์เซมิเคมิคัล ตามลำดับ
  3. เปลือกต้นใช้ทำเชือกหรือนำมาลอกออกแล้วนำไปขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 10-20 บาท
  4. ใบหรือยอดอ่อนนำมาหั่นหยาบ ๆ ใช้เป็นอาหารหมู หรือต้มให้หมูกิน หรือนำมาหั่นแล้วต้มผสมรำเป็นอาหารหมู หรือใช้ใบเป็นอาหารเลี้ยงวัว เลี้ยงปลา
  5. ผลสุกหรือเมล็ดใช้เป็นอาหารของนกและกระรอก
  6. น้ำมันจากเมล็ดใช้สำหรับทำเครื่องเขิน สบู่
  7. ใช้เป็นแหล่งสีธรรมชาติ โดยการนำใบมาสกัดจะได้สีเหลือง
  8. เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบและไม้จิ้มฟัน
  9. ต้นปอกระสาจัดเป็นไม้เนื้ออ่อนเจริญเติบโตได้รวดเร็ว จึงเหมาะปลูกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกเป็นสวนป่า นอกจากจะเป็นไม้โตเร็วแล้วยังมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ได้ง่าย และช่วยลดมลภาวะได้อีกด้วย

เปลือกปอสา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น