สรรพคุณของประดู่ป่า
- สารสกัดจากใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
ตามตำรับยาระบุให้ใช้ใบประดู่ป่า 1 กำมือ
นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ใช้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
(ใบ)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)
- แก่นมีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยแก้โลหิตจาง (แก่น)
- ตำรายาไทยจะใช้แก่นเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) (แก่น)
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)
- แก่นใช้เป็นยาแก้เสมหะ แก้โลหิตและกำเดา (แก่น)
- ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)
- ช่วยขับปัสสาวะ (แก่น)
- เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)
- ใบใช้เป็นยาพอกฝีให้สุกเร็ว ใช้พอกบาดแผล (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาพอกแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ) ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณช่วยแก้ผื่นคันได้เช่นกัน (แก่น)
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้คุดทะราด (แก่น)
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเมาเบื่อ (แก่น)
- ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประดู่ป่า
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ สารอีปิแคทเทซิน
ในเนื้อไม้ประกอบไปด้วยสารที่มีชื่อว่า Narrin ซึ่งเป็น
Amorphous และสีแดงเข้ม สารนี้เมื่อนำมาหลอมกับด่างจะให้ phloroglucinol
และ resocicinol และยังมีสารสี santalin
และ angolensin อีกด้วย ส่วนเปลือกต้นมี
gum kino เหมือนกับประดู่บ้าน และมี tannic acid เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย
- เมื่อปี ค.ศ.1986 ที่ประเทศอินเดีย
ได้มีการทดลองนำสารอิปิแคทเทซินที่สกัดได้จากประดู่บ้านมาใช้
โดยพบว่าสารดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร Alloxan
(สาร Alloxan จะเข้าไปทลายเซลล์ต่อมตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน
ทำให้หนูเป็นเบาหวาน)
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า
เมื่อสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นประดู่บ้านด้วย 50% เอทานอล นำมาฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง
พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตาย 50% มีขนาดมากกว่า 1
กรัมต่อกิโลกรัม
ประโยชน์ของประดู่ป่า
- ใบมีรสฝาด นำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้
- ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณภาพดี
มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย
มีเนื้อไม้ที่มีสีสวยและลวดลายสวยงาม สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอิฐเข้ม
มีเส้นสีแก่กว่าสีพื้น เสี้ยนสนเป็นริ้วไสกบตกแต่งชักเงาได้ดี
สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสา คาน ฝาบ้าน พื้นบ้าน ไม้ปาร์เกต์
ไม้ประสาน ไม้อัด แผ่นไม้ชุบซีเมนต์ ฯลฯ ใช้ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่ว ๆ ไป
รวมไปถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือ เพราะประดู่เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็มได้ดี
นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้
เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ หรือนำมาทำเป็นเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด
เป็นต้น ส่วนต้นประดู่บางต้นจะเกิดปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า
"ปุ่มประดู่" ทำให้ได้ไม้ที่มีเนื้อไม้งดงาม มีราคาแพงมากและหาได้ยาก
โดยมากนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆไม้ประดู่มีความแข็งมากกว่าไม้สัก
2
เท่า และหนักกว่าประมาณ 24% มีค่าความแข็ง
925 กิโลกรัม มีความทนทานตามธรรมชาติเฉลี่ยสูงถึง 14
ปี (เมื่อทดลองนำมาฝังดิน)
- ใช้เป็นฟืนและถ่าน โดยไม้ประดู่จะให้ความสูงถึง 5,022
และ 7,539 แคลอรีต่อกรัม ตามลำดับ
- เปลือกไม้ประดู่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำตาล
และยังให้น้ำฝาดสำหรับใช้ฟอกหนัง ส่วนแก่นก็สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน
โดยใช้ให้สีแดงคล้ำ แต่ในปัจจุบันแก่นประดู่ค่อนข้างจะหาได้ยาก
จึงนิยมใช้เปลือกต้นแทนในด้านการนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม
โดยลอกเอาส่วนของเปลือกต้นมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากให้แห้ง เปลือกของต้นประดู่แห้ง 3
กิโลกรัม สามารถย้อมสีเส้นไหม 1 กิโลกรัม
ต้มสกัดสีกับน้ำในอัตราส่วน 1:10 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำนำไปใช้ย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อนนาน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็นำเส้นไหมมาแช่ในสารละลายช่วยติดสีจุนสี
ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเข้ม
ประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ต้นประดู่ป่าเป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง
สามารถช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้
อีกทั้งยังช่วยรองรับน้ำฝนลดแรงปะทะหน้าดินให้น้อยลง
ประกอบกับมีระบบรากที่หยั่งลึกแผ่กว้าง จึงช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายได้ง่าย นอกจากนี้ปมรากที่มีขนาดใหญ่ของต้นประดู่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
ใบที่หนาแน่นของต้นเมื่อร่วงหล่นจะเกิดการผุพังและเพิ่มธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินเป็นอย่างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น