ดีปลี(ข้อมูลเพิ่มเติม)
สรรพคุณของดีปลี
- เชื่อกันว่าดีปลีมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังและช่วยบำรุงกำหนัด
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 10 ดอก
หัวแห้วหมู 10 หัว พริกไทย 10 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งแท้
ใช้รับประทานก่อนนอนทุกคืน (ดอก)
- ดอกดีปลีช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
- ผลแก่จัดช่วยบำรุงธาตุไฟ
แก้ธาตุไฟหย่อนหรือพิการ ช่วยรักษาอาการกำเริบของธาตุน้ำและธาตุลม (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ธาตุไม่ปกติ
แก้ปฐวีธาตุพิการ แก้วิสติปัฏฐี แก้ปัถวีธาตุ 20 ประการ (ผล, ดอก)
- ใช้เป็นยากระจายลม ระบายความเจ็บปวด
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก, เถา)
- ผงของผลมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด ขม ปร่า
สรรพคุณช่วยขับน้ำลายและทำให้ลิ้นชา (ผล)
- ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (เถา)
- ช่วยแก้ลมวิงเวียน ด้วยการใช้ดอกแก่นำมาต้มน้ำดื่ม
(ดอก,
ผลแก่จัด, ราก)
- ใช้เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ (ผล)
- ช่วยระงับอชินโรคหรือโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
หรือมักเป็น ๆ หาย ๆ (ผล)
- ช่วยแก้ตัวร้อน (ราก)
- ช่วยแก้ไข้เรื้อรังหรืออาการไข้ที่มักเป็น ๆ หาย
ๆ ด้วยการใช้ดอกดีปลีล้างสะอาด นำมาบดหรือตำพอหยาบ ๆ ประมาณครึ่งแก้ว
นำมาต้มกับน้ำ 4 แก้ว จนเหลือ 1 แก้ว แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มกินขณะท้องว่างวันละ
2 ครั้ง และสูตรนี้ยังช่วยลดอาการม้ามโตได้อีกด้วย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการหวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้อาการหืดไอ (ดอก, ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้หืดหอบ (ดอก, ราก)
- ช่วยแก้อาการไอหรือลดอาการไอ
มีอาการระคายคอจากเสมหะ ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว
แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 3
ดอก ผิวมะนาว 1 ลูก หัวกระเทียม 3 กลีบ และพริกไทยล่อน 3 เม็ด
นำทั้งหมดมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมะนาวและคลุกให้เข้ากัน
นำมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา แล้วใช้อมบ่อย ๆ (ดอก)
- ช่วยลดอาการเสียงแหบแห้งได้
ด้วยการใช้ผงดีปลีผสมกับสมอไทยอย่างละ 5 กรัมจนเข้ากัน
แล้วผสมกับน้ำอุ่นไว้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง (ผล)
- ช่วยแก้โรคลมบ้าหมู (ผล)
- เถาดีปลีมีรสเผ็ดร้อน ช่วยแก้เสมหะพิการ (ผล, เถา)
- ช่วยแก้เสมหะ ขับเสมหะ แก้เสมหะพิการ น้ำลายเหนียว
ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว
แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา, ราก)
- ช่วยแก้อุระเสมหะหรือเสมหะในทรวงอก (ผล)
- ดอกดีปลีช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ดอก)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนอันเกิดจากธาตุไม่ปกติ
ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2
ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง
ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทนก็ได้ (ผลแก่จัด, เถา)
- เถาดีปลีช่วยแก้อาการปวดฟัน
หรือจะใช้ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาบริเวณที่ปวดก็ได้ (ผล, เถา)
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ
จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล)
นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้ว ประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3
ครั้ง ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทน หรือจะใช้ดอกแก่นำมาต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง
ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2
ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง (ผลแก่จัด, เถา, ราก)
- ดอกดีปลีช่วยแก้อาการท้องเสีย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ผล, ดอก, ราก)
- ช่วยขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
- ใช้ประกอบในตำรับยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่จัด)
- ผลใช้เป็นยาขับพยาธิในท้องได้ (ผล)
- แก้มุตฆาตหรือโรคขัดปัสสาวะช้ำเลือดช้ำหนอง
(เถา)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก โดยใช้ดอกดีปลี 10 ดอก
เมล็ดงาดำดิบ 20 กรัม นำมาบดให้ละเอียดผสมกับนมดื่มวันละ 1 แก้ว ติดต่อกัน 15 วัน
(ผล,
ดอก, เถา)
- ผลแก่จัดของดีปลีช่วยบีบมดลูกและใช้เป็นยาขับระดูของสตรี
(ผลแก่จัด)
- ผลใช้เป็นยาขับรกให้รกออกมาง่ายภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก
(ผล)
- ช่วยขับน้ำดี เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี (ผล)
- ช่วยแก้ตับพิการ (ผล, ดอก)
- รากดีปลีช่วยแก้เส้นแก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต
ดับพิษปัตคาด (ผล, ราก)
- ช่วยแก้อัมพาตและเส้นปัตคาด (ดอก)
- ช่วยแก้พิษคุดทะราดให้ปิดธาตุ (ราก)
- ช่วยแก้คุดทะราด (ดอก, ราก)
- เถาดีปลีช่วยแก้พิษงู (เถา)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็น (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ เกาต์ ไข้รูมาตอยด์
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาแก้อาการฟกช้ำบวมได้ (ผล)
- ผลแก่จัดใช้ปรุงเป็นยาทาภายนอก
แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ทำให้ร้อนแดงและช่วยให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น (ผลแก่จัด)
- ดอกดีปลีเป็นส่วนประกอบของตำรับยา
"พิกัดเบญจกูล" ในคัมภีร์อายุรเวท ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู
เหง้าขิงแห้ง เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง โดยเป็นตำรับยาที่ใช้ประจำธาตุต่าง ๆ
และใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฎฐานต่าง ๆ ช่วยกระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ
แก้ลมพานไส้ ช่วยระงับโรคอันบังเกิดแต่ทวัตติงสาหาร (อาการ 32)
และช่วยบำรุงกองธาตุทั้งสี่ให้สมบูรณ์ (ดอก)
- ผลดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา
"พิกัดตรีสันนิบาตผล" (ตรีสัพโลหิตผล) ซึ่งประกอบไปด้วย ผลดีปลี
รากพริกไทย และรากกะเพราแดง ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยบำรุงธาตุ
แก้ในกองลม และช่วยแก้ปถวีธาตุ 20 ประการ (ผล)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดตรีกฎุก"
ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเท่ากัน อันได้แก่ ดีปลี ขิงแห้ง
และพริกไทย โดยมีสรรพคุณช่วยแก้โรคที่เกิดจากวาตะ (ลม), แก้เสมหะและปิตตะ (ดี) ในกองธาตุ กองฤดู และกองสมุฏฐาน
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน
6 ชนิด" ซึ่งประกอบไปด้วย ดีปลี พริกไทย ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา
ผลผักชีลาว โดยมีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหาร แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา "ยาอาภิสะ"
ซึ่งเป็นตำราพระโอสถพระนารายณ์
ที่มีดีปลีเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด
โดยมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและลำคอ
และช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา "ยาหอมนวโกฐ"
อันมีดีปลีเป็นองค์ประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น
คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา
"ยาประสะกานพลู" ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
ในตำรับยา โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ
อาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา "ยาประสะไพล"
ที่มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
โดยมีสรรพคุณช่วยแก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติของสตรี
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา
"ยาเหลืองปิดสมุทร" โดยมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
อีก 12 ชนิดในตำรับยา
ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น
อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน หรืออาการท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น
(ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา "ยาธาตุบรรจบ"
ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยา
โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดีปลี
สมุนไพรไทยดีปลี
มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ ช่วยต่อต้านออกซิเดชัน
ต้านพิษต่อตับ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว
และมีสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ที่มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง
ดังนั้นสำหรับสตรีตั้งครรภ์จึงไม่ควรรับประทาน
คำแนะนำในการรับประทานดีปลี
- ไม่ควรบริโภคดีปลีในปริมาณที่มากเกินไป
เพราะอาจจะทำให้กระเพาะอักเสบ แสบทวารเวลาขับถ่ายได้
- สำหรับผู้ที่เป็นไข้ ไม่ควรรับประทานดีปลี
เพราะจะทำให้เป็นร้อนในด้วย
- และสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ห้ามรับประทานดีปลีเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้
ประโยชน์ของดีปลี
- ผลอ่อนดีปลีสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้
- ผลแก่สามารถนำมาใช้ตำน้ำพริกแทนพริกได้
หรือในบางท้องถิ่นก็นำมาใช้แต่งใส่ในผักดองเช่นเดียวกับพริก
- ยอดอ่อนดีปลีสามารถนำมาใช้ใส่ในข้าวยำได้
- ผลดีปลีแห้งมีรสเผ็ดร้อนขม
สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องในการประกอบอาหาร ด้วยการนำผลสุกดีปลีมาตากแห้งแล้วใช้ปรุงรสแกงคั่ว
หรือแกงเผ็ด เพื่อใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี
และยังช่วยปรุงรสปรุงกลิ่นให้อาหารน่ารับประทาน
นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้แต่งกลิ่นผักดองได้อีกด้วย
- เครื่องเทศดีปลีสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี
- ช่วยถนอมอาหารไม่ให้เกิดการบูดเน่าได้
- นอกจากจะปลูกไว้เป็นเครื่องเทศและเป็นยาสมุนไพรแล้ว
ยังปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อชมใบสีเขียวสดดูชุ่มชื่น
หรือปลูกเพื่อดูผลที่เป็นสีเหลืองจวนสุกก็ได้เช่นกัน
- ผลดีปลีมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์สามารถฆ่าแมลงด้วงงวงและด้วงถั่วได้
และอาจนำมาสกัดเป็นสารกำจัดแมลงสูตรธรรมชาติได้
- ดีปลีใช้ปลูกในเชิงการค้าเพื่อใช้อุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพร
โดยมีทั้งการปลูกเป็นพืชหลักและพืชเสริม โดยแหล่งผลิตที่สำคัญในบ้านเราได้แก่
ตำบลบ้านใหม่ ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนแหล่งผลิตอื่น ๆ ก็ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จันทบุรี และนครศรีธรรมราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น