หน้าเว็บ

รางแดง (ข้อมูลเพิ่มเติม)

ประโยชน์ของรางแดง
  • ใบนำมาคั่วแล้วใช้ชงกับน้ำดื่มเหมือนชา
  • ยอดอ่อน ใบ และเปลือกต้น ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำยาสระผมสูตรแก้รังแค ซึ่งจะประกอบไปด้วยสมุนไพรอื่น ๆ อีก เช่น ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด ใบหมี่เหม็น และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาต้มรวมกันแล้วนำน้ำที่ได้มาสระผมจะช่วยแก้รังแคได้
สรรพคุณของรางแดง
  • เถามีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ จะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นด้วยก็ได้ ซึ่งตามตำรับยาอายุวัฒนะจะใช้รางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร และน้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร นำมาดองไว้ 15 วัน ใช้กินครั้งละ 30 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะใช้เถารางแดงผสมกับต้นเถาวัลย์เปรียง ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เถา)
  • หมอยาอีสานจะมีทั้งใช้เถานำมาต้มกิน หรือนำใบมาชงเป็นชา (ซึ่งอาจจะใช้แบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ก็ได้) เพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง (ตำรับยานี้สามารถช่วยแก้เส้น แก้เอ็น อาการปวดหลัง ปวดเอง ปวดแข้ง ปวดขา ได้ด้วย) แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ การดองเหล้า (ใช้รากนำมาดองกับเหล้า) (เถา,ราก,ใบ)
  • เถานำมาหั่นตากแดด แล้วนำมาปรุงเป็นยากินรักษาโรคกษัย รักษาอาการกล่อนลงฝัก และกล่อนทุกชนิด (เถา) ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้กษัยเช่นกัน (ราก)
  • ตำรับยาช่วยทำให้เจริญอาหาร จะใช้เถารางแดง, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, ต้นเถาวัลย์เปรียง และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยให้เจริญอาหาร (เถา) ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบนำมาลนไฟหรือตากให้แห้งแล้วชงกับน้ำดื่ม ก็ช่วยทำให้เจริญอาหารได้เช่นกัน (ใบ)
  • เถานำไปต้มกับน้ำดื่มช่วยลดคอเลสเตอรอล (เถา) (ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยัน)
  • ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ (เถา)
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ราก)
  • ใบนำมาลนไฟแล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มแทนใบชา จะช่วยทำให้ชุ่มคอ (ใบ)
  • ตำรายาไทยจะใช้ใบนำมาปิ้งไฟให้กรอบ ใช้ชงกับน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ใบ) ส่วนเถาก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เถา)
  • ตำรับยาแก้ผิดสาบ จะใช้รากรางแดง, รากชะอม, รากเล็บเหยี่ยว, รากสามสิบ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง, และเขากวาง นำมาฝนใส่ข้าวจ้าวกินแก้ผิดสาบ (ราก)
  • เถามีสรรพคุณช่วยบำรุงเส้นสาย แก้เส้น แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ (เถา)
  • ตำรับยาแก้ปวดเมื่อย ระบุให้ใช้รางแดง 1 ขีด, อ้อยดำ 1 ขีด, และยาหัว 1 ขีด (เข้าใจว่าคือข้าวเย็น แต่ไม่ทราบว่าใช้ข้าวเย็นเหนือ หรือข้าวเย็นใต้) ต้มจนเดือดประมาณ 15 นาที ใช้ต้มกินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ส่วนตำรับยาแก้ปวดเมื่อยของชาวล้านนา จะใช้ลำต้นรางแดง ผสมกับลำต้นและรากงวงสุ่ม ลำต้นเปล้าล้มต้น ลำต้นเปล้าลมเครือ ลำต้นแหนเครือ ลำต้นหนาด และลำต้นบอระเพ็ด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ลำต้น)
  • ใบนำมาปิ้งไฟให้กรอบ ใช้ชงกับน้ำกินต่างน้ำชาจะช่วยทำให้เส้นเอ็นในร่างกายอ่อนดี หรือทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็นตึง (ใบ)
  • พ่อหมอสุนทร พรมมหาราช (หมอยาของอำเภอภูหอ จังหวัดเลย) เล่าว่า ตำรับยาที่หลวงปู่มั่นฉันเป็นยาอายุวัฒนะอยู่เสมอคือ เถารางแดงดองกับน้ำผึ้ง โดยจะนำเถารางแดงมาตัดเป็นท่อน แล้วผ่าใส่โหลหมักกับน้ำผึ้ง นอกจานี้ยังมีตำรับยาบำรุงของหลวงปู่มั่นอีก คือ ให้นำ เครือเขาแกบหรือรางแดง รากตำยาน รากพังคี เนื้อไม้หรือรากกะเพราต้น ใบส่องฟ้า และใบมะเม่า นำมาต้มกินเป็นยาอายุวัฒนะ (เถา)
  •  ลุงเฉลา คมคาย (หมอยาพื้นบ้านแห่งบ้านดงกระทงยาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นผู้แนะนำให้ใช้ส่วนของรากรางแดงมาทำเป็นยา เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนที่มีสรรพคุณดีที่สุด โดยเฉพาะส่วนของปลายราก (ถ้าหารากไม่ได้ จะใช้เถาแทนก็ได้ แต่สรรพคุณจะไม่ดีเท่ากับส่วนของราก) เมื่อขุดขึ้นมาจะพบว่ารากเป็นสีดำ โดยจะใช้รากที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และใช้ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร นำมาดองกับเหล้า 1 ขวด ใช้กินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ปวดหลังปวดเอว หรือใช้ดองร่วมกับสมุนไพรบำรุงกำลังอื่น ๆ โดยลุงเฉลาจะนิยมนำรากมาดองร่วมกับรากคัดเค้า (1:1) นอกจากนี้ยังใช้นำมาชงเป็นชาแก้ปวดหลังปวดเอวได้เช่นกัน ด้วยการนำใบเพสลาดมาตากให้แห้ง นำมาชงกับน้ำร้อนใช้รับประทานครั้งละ 4-5 ใบ
  • หมอโจป่อง (หมอยากะเหรี่ยงฤาษีที่หมู่บ้านทิบาเก ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก) แนะนำว่าให้ใช้ใบของต้นรางแดงนำมาปิ้งไฟแล้วชงกับน้ำกิน เพื่อช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (ใบ)
  • ตาส่วน สีมะพริก และพ่อเม่าหรือพ่อบุญมี ได้ฤกษ์ จะนำรางแดงมาใช้ต้มกินแก้ปวดเมื่อย แก้เอ็น โดยนำมาต้มกินเดี่ยว ๆ หรือต้มรวมกับสมุนไพรบำรุงกำลังอื่น ๆ เช่น เถาวัลย์เปรียง ทั้งสองท่านเล่าว่าผู้ชายจะนิยมใช้มากกว่าผู้หญิง เพราะต้องทำงานหนัก จึงต้องใช้สมุนไพรมาช่วยบำรุงกำลัง แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย บำรุงไต ซึ่งหมอยาพื้นบ้านเชื่อว่ารางแดงเป็นสมุนไพรที่ใช้แก้กษัยไตพิการตัวหนึ่ง
  • ส่วนหมอยาไทยใหญ่ จะใช้ใบรางแดงนำมาปิ้งกับไฟชงกับน้ำร้อนกินแทนชา เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อย ปวดหลังปวดเอว แก้อาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาล้างไต ด้วยการใช้ใบชงใส่น้ำร้อน หรือจะใช้รากหรือเถานำมาหั่นตากแห้ง แล้วต้มกินก็ได้ และยังเชื่อว่าหากกินสมุนไพรรางแดงเป็นประจำจะช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต และทำให้เจริญอาหารได้ด้วย
  • ข้อสังเกต : จากสรรพคุณที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่มีระบุว่าไว้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรรางแดงทั้งในรูปของชาสมุนไพรและในรูปแบบแคปซูล ว่ารางแดงมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ละลายไขมัน ช่วยลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมัน และช่วยขับเหงื่อ (ซึ่งข้อมูลตรงส่วนนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นว่ามีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ และก็ยังไม่เห็นว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเลย (หรือมีแล้วก็ไม่ทราบ) ไม่แน่ใจว่าเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ จึงขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณด้วยครับ)


ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของรางแดง
  • สารสกัดหยาบจากใบรางแดงด้วยเอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 95 พบว่าสารสกัดที่ได้มีลักษณะหนืดข้นมีสีเขียวเข้มถึงดำ และมีกลิ่นหอม
  • จากการศึกษาผลของสารสกัดที่ความเข้มข้น 0, 5000, 10000, 15000, และ 20000 ppm ต่อการเจริญของรา Colletotrichum gloeosporioides และ Fusarium oxysporum พบว่าสารสกัดที่มีความเข้มข้น 15000 และ 20000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของรา Colletotrichum gloeosporioides และ Fusarium oxysporum ได้ดีที่สุด และเมื่อความเข้มข้นเพิ่มข้น จะทำให้ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • จากข้อมูลทางเภสัชวิทยายังไม่มีรายงานถึงฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของสมุนไพรรางแดง
  • จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากทั้งต้นรางแดงด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จึงเรียกได้ว่ามีความเป็นพิษน้อย
  • เมื่อประมาณปี พ.ศ.2548 มีรายงานการศึกษาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ด้วยการคัดเลือกสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยาบำรุงกำหนัดและบำรุงสมองรวม 19 ชนิด และพบว่ามีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดังกล่าวอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รางแดงหรือเครือเถาแกบ


แหล่งข้องมูลล
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รางแดง”.  หน้า 677-678.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “รางแดง”.  หน้า 221.
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รางแดงรักษาเบาหวาน?”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [29 พ.ค. 2014].
  4. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ.  (รัฐพล ศรประเสริฐ, ภากร นอแสงศรี, อนงคณ์ หัมพานนท์).  “ผลของสารสกัดหยาบจากใบรางแดง (Ventilago denticulata Willd.) ต่อการเจริญของ Colletotrichum gloeosporioides และ Fusarium oxysporum”.
  5. ฐานข้อมู,สมุนไพรไทย จังหวัดอุตรดิตถ์.  “รางแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th/herb/.  [29 พ.ค. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “รางแดงเถารางแดง , เถาวัลย์เหล็ก”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “งวงสุ่ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ค. 2014].
  8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Ventilago denticulata Willd.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [29 พ.ค. 2014].
  9. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “เครือเขาแกบ…พญาดาบหัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [29 พ.ค. 2014].


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น